" "

เรียกร้องรัฐบาลไทยทบทวนกระบวนการและร่างแผน PDP2024 ที่ไม่มั่นคง แพง และไม่นำประเทศสู่การบรรลุเป้าหมาย Net zero

Copy of _MG_4123 copy

จากกระบวนการรับฟังความเห็นที่ไม่ดำเนินการให้เป็นไปตามหลักการมีส่วนร่วมของประชาชน จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนร่างแผน PDP ฉบับนี้และเปิดให้มีกระบวนการรับฟังความเห็นที่รอบด้านอย่างแท้จริง 

5 ข้อเสนอต่อการแก้ไขร่าง PDP 2024 

  1. ให้คำนึงถึงแผนการลดการปล่อยคาร์บอนในภาคพลังงานเป็นเป้าหมายสำคัญในการออกแบบ เพื่อให้บรรลุ Carbon Neutrality ภายในปี 2050 และ Net Zero Emission ภายในปี 2065 
  2. ประกาศปลดระวางถ่านหิน โดยไทยจะสามารถเร่งเลิกใช้ถ่านหินได้เร็วสุดภายในปี 2027 เนื่องจากภาระทางสิ่งแวดล้อมและภาวะโลกเดือดสูงกว่าพลังงานชนิดอื่น
  3. หยุดการเซ็นสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าก๊าซฟอสซิลใหม่และเขื่อนในลุ่มน้ำโขง 
  4. ใช้พลังงานหมุนเวียนภายในประเทศให้เต็มศักยภาพและป้อนเข้าสู่ระบบสายส่งเป็นลำดับแรก เพื่อลดการพึ่งพาและนำเข้าพลังงานจากการนำเข้าต่างประเทศ เพิ่มความยืดหยุ่นในระบบไฟฟ้า เพื่อรองรับการเพิ่มขึ้นของพลังงานหมุนเวียน ท้ังการทําสัญญาซื้อขาย และการนําเทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงานและการบริหารจัดการแบบกระจายศูนย์มาใช้ 
  5. เตรียมความพร้อมสำหรับการซื้อขายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนจากภาคครัวเรือนและ เปิดโอกาสให้บุคคลที่สามสามารถขอใช้บริการระบบโครงข่ายไฟฟ้า (Third Party Access: TPA) ได้อย่างเต็มที่

คน ร่วมลงชื่อแล้ว

เหลืออีก คน สู่เป้าหมาย


ปัญหาหลัก 3 ข้อของแผน PDP 2024 :
“ ไม่มั่นคง แพง และไม่นำประเทศสู่การบรรลุเป้าหมาย Net zero”

(1) ระบบไฟฟ้าของประเทศไม่มั่นคง (unsecure)

ในร่างแผน PDP 2024 ระบบไฟฟ้าของไทยยังพึ่งพาแหล่งพลังงานนำเข้าจากต่างประเทศ ทั้งเชื้อเพลิงและพลังงานไฟฟ้า คือ เพิ่มการนำเข้า LNG เพื่อป้อนโรงไฟฟ้าก๊าซฟอสซิลการซื้อขายไฟฟ้าจากเขื่อนในลาวเป็นหลัก และการซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าถ่านหินหงสาของประเทศลาว  

ประเทศไทยผลิตไฟฟ้าจากการใช้ก๊าซฟอสซิลสูงถึงร้อยละ 58 (ปี 2566) ร่างแผน PDP และ Gas Plan วางแผนนำเข้า LNG ในช่วงปลายแผนสูงถึงร้อยละ 43 ซึ่งราคาของ LNG ในตลาดโลกมีความผันผวนสูง จากสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ผ่านมา และในอนาคต ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ ยิ่งทำให้ประเทศไทยต้องแบกรับความเสี่ยงในด้านราคาที่ไม่แน่นอน 

ด้านการพึ่งพาการผลิตไฟฟ้าจากเขื่อนในประเทศลาว ข้อมูลในพ.ศ. 2566-2567 การผลิตไฟฟ้าจากเขื่อนพลังงานน้ำในลาวต่ำกว่าเป้าหมายถึงร้อยละ 20 ยิ่งไปกว่านั้น สัญญาซื้อขายไฟฟ้าระหว่างรัฐและผู้ผลิตเอกชนไม่ได้ระบุถึงการรับผิดชอบในกรณีที่ผลิตไฟฟ้าไม่ได้ตามเป้าหมายทำให้ประชาชนต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายภายใต้สัญญา “Take or Pay” หรือ “ค่าความพร้อมจ่ายไฟฟ้า” และสัญญาผูกมัดยาวนานสูงสุดกว่า 29-35 ปี รวมทั้งหายนะจากการสูญเสียทรัพยากรธรรมชาติ วิถีชีวิตชุมชนที่เกิดจากการสร้างเขื่อนในลุ่มน้ำโขง

(2) ต้นทุนค่าไฟฟ้า (Economy) แพงต่อเนื่องและย้อนกลับมาแก้ยาก

ที่ผ่านมา ไทยเผชิญกับปัญหากำลังการผลิตไฟฟ้าล้นเกิน โดยปัจจุบันไฟฟ้าสำรองมากกว่า 20,000 เมกะวัตต์ เป็นผลมาจากการทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระหว่างรัฐและผู้ผลิตเอกชน ซึ่งกำหนดให้รัฐต้องจ่ายเงินให้กับโรงไฟฟ้าไม่ว่าจะเดินเครื่องหรือไม่ก็ตาม ทำให้เกิดต้นทุนค่าไฟฟ้าเกินความจำเป็น

ท้ายที่สุด ต้นทุนในการสร้างโรงไฟฟ้าเหล่านี้จะถูกส่งผ่านมายังค่าไฟฟ้าของประชาชน ทำให้ค่าไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้นในอนาคตและยากต่อการแก้ไข

ในร่างแผน PDP มีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและโครงการขนาดใหญ่มีค่าใช้จ่ายสูงมหาศาลจำนวนมาก เช่น 

  • วางแผนสร้างโรงไฟฟ้าก๊าซฟอสซิลขนาดใหญ่ 8 โรง รวมกำลังการผลิต 6,300 เมกะวัตต์ 
  • การสร้างท่าเทียบเรือก๊าซ LNG สำหรับการนำเข้าก๊าซ ที่ใช้เงินลงทุนกว่า 66,000 ล้านบาท
  • การเพิ่มสัดส่วนไฮโดรเจนเพื่อผสมกับก๊าซฟอสซิลในโรงไฟฟ้า แม้ว่าจะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ แต่ก็ทำให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้น
  • ต้นทุนของโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ซึ่งยังคงสูงกว่าพลังงานหมุนเวียนประเภทอื่น
  • เทคโนโลยีการดักจับและกักเก็บคาร์บอนที่มีต้นทุนสูงกว่า 100,000 ล้านบาท

(3) ไม่นำประเทศสู่การบรรลุเป้าหมาย Net zero

อดีตนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศเป้าหมายให้ประเทศไทยบรรลุ Carbon Neutrality ภายในปี 2050 และ Net Zero ภายในปี 2065 อย่างไรก็ตาม ร่างแผน PDP ฉบับปัจจุบันนี้กลับขัดแย้งกับเป้าหมายดังกล่าวอย่างชัดเจน เนื่องจากร่างแผน PDP ฉบับนี้ยังคงพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลและถ่านหินรวมสูงถึงร้อยละ 48 ผลการศึกษาหลายแห่งพบว่า ประเทศไทยจะบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนได้ สัดส่วนของก๊าซฟอสซิลที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าจะต้องลดลงเหลือน้อยกว่าร้อยละ 20 ในปี 2050

พลังงานไฟฟ้าที่ระบุในร่างแผน PDP ฉบับนี้อ้างว่าเป็นพลังงานสะอาด เช่น พลังงานน้ำจากเขื่อนและพลังงานนิวเคลียร์ ยังไม่สามารถถือว่าเป็นพลังงานสะอาดอย่างแท้จริง เนื่องจากการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ก่อให้เกิดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมมหาศาล และพลังงานนิวเคลียร์มีความเสี่ยงสูงและมีต้นทุนการจัดการกัมมันตรังสีที่สูง ซึ่งโครงการขนาดใหญ่เหล่านี้จะสร้างผลกระทบต่อระบบนิเวศ ความหลากหลายทางชีวภาพ ความมั่นคงอาหาร และวิถีชุมชนทั้งในประเทศและภูมิภาคอันประเมินค่ามิได้

ที่สำคัญ แผน PDP ฉบับนี้ยังไม่ได้กำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนในการใช้พลังงานหมุนเวียน โดยเฉพาะการเปิดโอกาสให้พลังงานแสงอาทิตย์จากโซลาร์เซลล์บนหลังคาประชาชนที่มีศักยภาพสูงเข้าสู่ระบบสายส่งเป็นลำดับแรก การเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนเหล่านี้เป็นสิ่งจำเป็นเพื่อให้ประเทศไทยสามารถบรรลุเป้าหมาย Carbon Neutrality และ Net Zero ได้ตามที่ประกาศไว้