" "

ถึงเวลา SCG ต้องปลดระวางถ่านหิน

_RKG1900

SCG ต้องยุติการดำเนินโครงการเหมืองถ่านหินแม่ทะ จ.ลำปาง และยุติแผนการรับซื้อถ่านหินจากพื้นที่อมก๋อย จ.เชียงใหม่โดยทันทีอย่างไม่มีเงื่อนไข 

ประเทศไทยไม่ได้มีแค่ฝุ่น PM2.5 แต่กำลังจะมีเหมืองถ่านหินอีก 2แห่ง และ SCG ไม่อาจปฏิเสธความรับผิดชอบนี้ เราจึงเรียกร้องให้

  1. SCG ต้องเริ่มแผนการปลดระวางถ่านหินพร้อมสื่อสารต่อสังคมเพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายด้านความยั่งยืนตามประกาศของบริษัทฯ และเพื่อบรรลุการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ในปี 2050 
  2. ยุติการมีส่วนร่วมรับซื้อโครงการเหมืองถ่านหินทั้งหมดที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการละเมิดสิทธิด้านชุมชน ที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมโดยทันทีอย่างไม่มีเงื่อนไข  
  3. ร่วมมือกับภาคประชาสังคม และนักปกป้องสิทธิมนุษยชนเพื่อป้องกันบรรเทาและเยียวยาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งรวมถึงการเคารพ คุ้มครอง และส่งเสริมหลักการด้านสิทธิมนุษยชน

คน ร่วมลงชื่อแล้ว

เหลืออีก คน สู่เป้าหมาย

ถึงเวลา SCG ต้องปลดระวางถ่านหิน


เรื่องนี้มีความเป็นมาอย่างไร?

_RCK2857

ย้อนหลังไปในปี 2530 มีบริษัทเอกชนเริ่มกว้านซื้อที่ดินในหมู่บ้านกะเบอะดิน อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ และไม่ได้ให้ข้อมูลครบถ้วนว่านำที่ดินไปทำอะไร สมาชิกในชุมชนส่วนหนึ่งขายที่ดินให้อย่างไม่เต็มใจ เนื่องจากถูกข่มขู่ว่าหากไม่ยอมขายให้จะถูกยึดที่ดินโดยไม่ได้อะไรตอบแทน ต่อมาในปี 2543 บริษัท 99 ธุวานนท์ (จำกัด) ได้ยื่นคำขอประทานบัตรทำเหมืองถ่านหินในพื้นที่ซึ่งได้กว้านซื้อไว้ คิดเป็นเนื้อที่ราว 284 ไร่ 30 ตารางวาซึ่งจากรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ฉบับปี 2563 ที่ศาลปกครองเชียงใหม่มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวระงับโครงการเหมืองแร่ถ่านหินอมก๋อย ระบุว่าถ่านหินที่ขุดได้เกือบทั้งหมดจะใช้เป็นเชื้อเพลิงในโรงงานปูนซีเมนต์ ของบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) จ.ลำปาง

และในปี 2547 บริษัท ปูนซีเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) ได้สำรวจแอ่งแม่ทะ ซึ่งเป็นแหล่งถ่านหิน เพื่อขอสัมปทานเหมืองลิกไนต์ไปใช้ในกระบวนการผลิตปูนซีเมนต์เช่นกันกับกรณีของโครงการเหมืองถ่านหินอมก๋อย หลังจากชาวบ้านในพื้นที่การขอสัมปทาน ได้รับรู้ถึงการเตรียมการของโครงการเหมืองถ่านหินแห่งนี้ ชาวบ้านได้ตระหนักถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับวิถีชีวิต สุขภาพ และสิ่งแวดล้อม ซึ่งตั้งข้อกังวลไว้ 2 หัวข้อด้วยกันคือ 

  1. บริเวณที่ถูกขอสัมปทานเป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำที่อุดมสมบูรณ์และเป็นแหล่งน้ำตามธรรมชาติให้ชุมชนได้ใช้ประโยชน์ในการทำการเกษตรร่วมกัน หากโครงการเหมืองถ่านหินนี้ผ่านความเห็นชอบและดำเนินการ พื้นที่ป่าต้นน้ำและพื้นที่ป่าของชุมชนซึ่งชุมชนร่วมกันปกป้องดูแลมาโดยตลอด เป็นทั้งแหล่งความมั่นคงทางอาหารและพืชสมุนไพรก็จะถูกทำลายลงโดยสิ้นเชิง 
  2. การเปิดหน้าดินในพื้นที่ป่าเพื่อขุดถ่านหินออกมา ทำให้เกิดชะล้างของตะกอนดินลงสู่ลำน้ำและอ่างเก็บน้ำ นอกจากแหล่งน้ำจะตื้นเขินแล้ว ยังเป็นที่รวมของสารพิษที่ปล่อยออกมาจากโครงการเหมืองถ่านหิน ซึ่งมีความเป็นไปได้สูงที่จะเกิดการปนเปื้อนลงสู่อ่างเก็บน้ำของชุมชนที่อยู่ตอนล่างของพื้นที่ตั้งเหมือง 

ด้วยเหตุนี้ ชาวบ้านจึงแสดงจุดยืนต่อต้านโครงการเหมืองถ่านหินเพื่อไม่ให้ได้รับผลกระทบที่กล่าวมา

การตอบกลับที่เกิดข้อสังเกต

_RCK2696

กรีนพีซ ประเทศไทย ได้ส่งจดหมายเปิดผนึกถึง SCG รวมสองฉบับ เพื่อทวงถามความรับผิดชอบต่อสถานะปลายทางห่วงโซ่อุปทานของโครงการเหมืองถ่านหินอมก๋อยและเหมืองถ่านหินแม่ทะ ซึ่งปรากฏใน EIA โดยจดหมายตอบกลับจาก SCG ทั้งสองฉบับ มีสาระสำคัญสามประการ ประการแรก “โครงการเหมืองถ่านหินอมก๋อย จ.เชียงใหม่ ดำเนินการโดยเอกชนรายอื่น ซึ่งบริษัทฯ ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้อง” ประการที่สอง “บริษัทฯ มีนโยบายที่เข้มงวดในการไม่รับซื้อวัตถุดิบหรือปัจจัยการผลิตจากแหล่งที่ไม่ได้ดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อมและถูกต้องตามกฎหมาย” ประการที่สาม “โครงการเหมืองถ่านหินแม่ทะ อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของหน่วยงานราชการ” 

จากจดหมายตอบกลับข้างต้น กรีนพีซ ประเทศไทย ตั้งข้อสังเกตว่า  การที่ SCG ปฏิเสธการมีส่วนเกี่ยวข้องนับเป็นการละเลยหลักการชี้แนะแห่งสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน  ที่ระบุชัดเจนถึงขอบเขตความรับผิดชอบของธุรกิจ และในขณะเดียวกันภาคธุรกิจควรดำเนินการเพื่อขับเคลื่อนตามแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (National Action Plan On Business and Human Rights :NAP) ให้ครอบคลุมทุกด้านโดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านชุมชน ที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ที่ภาคธุรกิจต้องปฏิบัติตามกฎหมาย มาตราฐาน และหลักการด้านสิทธิมนุษยชน ที่เกี่ยวข้องรวมทั้งการตรวจตราบริษัทลูกและห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งรวมถึงพันธมิตรทางธุรกิจอื่น ๆ  

โฆษณาความยั่งยืนและนโยบายด้านสิทธิมนุษยชนของ SCG จะกลายเป็นการฟอกเขียวหากเกิดเหมืองถ่านหิน

_RKG1874

SCG ได้ประกาศเป้าหมายด้านความยั่งยืนมากมาย  เช่นการประกาศเป้าหมายของบริษัทฯ เพื่อบรรลุการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ในปี2050 (Energy Transition Solutions: ETS), การประกาศเป้าหมายบรรลุการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals), ประกาศ Net Zero Cement & Concrete Roadmap ในปี2565, อีกทั้งหนึ่งในนโยบายด้านความยั่งยืนที่ SCG ระบุว่ายึดถือคือ  ESG: Environment, Social, Governance (สิ่งแวดล้อม สังคมและธรรมาภิบาล) ซึ่งองค์กรที่ประกาศว่าใช้ ESG นำทาง ไม่ควรมีส่วนสนับสนุนโครงการที่ก่อผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชน สังคมและสิ่งแวดล้อมต่อชุมชนและนโยบายด้านสิทธิมนุษยชนที่บริษัทได้ประกาศถึงแนวปฏิบัติในการพัฒนาและดำเนินกระบวนการจัดการด้านสิทธิมนุษยชน (Due Diligence Process) เพื่อที่จะระบุประเด็นและประเมินความเสี่ยงผลกระทบด้านการละเมิดสิทธิมนุษยชน 

หาก SCG ยังมีส่วนเดินหน้าโครงการเหมืองถ่านหินแม่ทะและรับซื้อถ่านหินจากเหมืองถ่านหินอมก๋อย การประกาศนโยบายด้านความยั่งยืนและนโยบายด้านสิทธิมนุษยชนทั้งหมดของ SCG ย่อมมีค่าเป็นเพียงการฟอกเขียว, เป็นการลดทอนหลักปฏิบัติสากลด้านธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน, อีกทั้งเป็นการสร้างความเข้าใจต่อนโยบายความยั่งยืนของบริษัทที่ไม่ครบถ้วนต่อทั้งผู้บริโภค ผู้ถือหุ้นของบริษัท และประชาชน